ประเพณีภาคเหนือ



ประเพณีไหว้พระธาตุดอยตุง


แหล่งที่มารูปภาพ: www.gotoknow.org 



ประเพณี : ไหว้พระธาตุดอยตุง
จังหวัด : เชียงราย
ช่วงเวลา :วันเพ็ญเดือน ๖ เหนือ (เดือน ๔ ไทยกลาง) หลังวันมาฆบูชา ๑ เดือน
ความสำคัญ
 : พระธาตุดอยตุง เป็นปูชนียสถานเก่าแก่ของชาวพุทธในเชียงรายและ
จังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งชาวพุทธในรัฐเชียงตุง ประเทศพม่า และในประเทศลาว การไหว้พระธาตุดอยตุงเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้น
พิธีกรรม : ในวันเพ็ญเดือน ๖ พุทธมามะกะจากทุกทิศ จะเดินทางขึ้นไปบนยอดดอยตุง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย กิจกรรมในวันนั้นภาคกลางวัน มีการบูชาพระรัตนตรัย รับศีล และฟังเทศน์ กลางคืนมีการเวียนเทียน รอบองค์พระธาตุ ในอดีต ผู้ที่เดินทางมักเดินจากเชิงเขาที่บ้านห้วยไคร้ อำเภอแม่สายขึ้นไปเป็นระยะทางประมาณ ๙ กิโลเมตร ปัจจุบันนี้ นิยมเดินทาง ด้วยรถยนต์ตามถนนลาดยางที่แยกจากถนนพหลโยธินที่บ้านสันกอง อำเภอแม่จัน ส่วนผู้ที่นิยมเดินขึ้นเหลือน้อยลง เพราะถนนสำหรับรถยนต์ได้ทับเส้นทางเดินเท้า หลายแห่ง
สาระ : ประเพณีของชาวพุทธมีการสมาทานศีลและการฟังเทศน์เป็นหลักซึ่งเป็นไป เพื่อชำระจิตใจให้ปราศจากกิเลส และฝักใฝ่ทางกุศล การเดินทางขึ้นไป บนยอดดอยตุงแสดงให้เห็นศรัทธา ความเพียร และความอดทน  




ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ


แหล่งที่มารูปภาพ:  xn--22c8amcebfk1a1ablffaf5t5ch4sh5g.blogspot.com


ประเพณี :   อุ้มพระดำน้ำ
จังหวัด : เพชรบูรณ์
ช่วงเวลา : เทศกาลสารทไทยตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
ความสำคัญ : ประเพณีอุ้มพระดำน้ำเป็นประเพณีที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับอภินิหารของพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองคือ
พระพุทธมหาธรรมราชา ซึ่งคนหาปลาสองสามีภรรยาทอดแหได้ที่วังเกาะระสาร
ในบริเวณลุ่มน้ำป่าสักในเขตตัวเมืองเพชรบูรณ์  จึงนำไปไว้ที่วัดไตรภูมิ
เมื่อถึงเทศกาลสารทพระพุทธรูปองค์นี้จะหายไปและชาวบ้านจะพบมาเล่นน้ำ
ที่บริเวณที่ค้นพบเดิม ดังนั้นในเทศกาลทำบุญสารทหลังจากทำบุญเสร็จแล้ว
จะมีพิธีอัญเชิญ พระพุทธมหาธรรมราชาลงริ้วขบวนเรือไปสรงน้ำที่วังเกาะระสาร แต่ปัจจุบันนำมาทำพิธีที่ท่าน้ำของวัดโบสถ์ชนะมารในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐

พิธีกรรม/กิจกรรม :
๑.    จัดให้มีการตั้งศาลเพียงตาแล้วอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชามาประทับ
๒.  ทำพิธีสวดคาถาโดยพราหมณ์ผู้ทำพิธีนุ่งขาวห่มขาวแล้วอัญเชิญขึ้นบนบุษบกให้ประได้กราบ
    ไหว้บูชาและมีงานฉลองสมโภช
๓.   จัดให้มีพิธีอุ้มพระดำน้ำในตอนเช้าหลังทำบุญสารทโดยมีขบวนเรือแห่นำไปโดยผู้ว่าราชการ
จังหวัด เมื่อถึงบริเวณวัดโบสถ์ชนะมาร เจ้าเมืองพร้อมข้าราชบริพารจะอุ้มพระลงดำน้ำ โดยหัน
หน้าองค์พระไปทิศเหนือ ๓ ครั้ง ทิศใต้ ๓ ครั้ง ชาวบ้านจะโปรยข้าวตอก ดอกไม้และข้าวต้ม
กลีบ เมื่อดำน้ำเสร็จชาวบ้านจะตักน้ำรดศีรษะและรดกันเองเพื่อเป็นสิริมงคล
สาระ : ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าทำพิธีอุ้มพระดำน้ำแล้วจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล 
  

ประเพณีแหล่ส่างลอง (แห่ลูกแก้ว)

แหล่งที่มารูปภาพ:  123.242.165.136

ประเพณี : แหล่ส่างลอง (แห่ลูกแก้ว)
จังหวัด :  ตาก
ช่วงเวลา : กลางเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน
ความสำคัญ :  ๑. เป็นการอนุรักษ์ประเพณีที่มีมาแต่เดิม
๒. ให้เด็กนักเรียนได้ใช้เวลาระหว่างปิดภาคเรียนได้ศึกษาพระ
ธรรมคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา
๓. พ่อแม่ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเข้าบวชถือเป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่
พิธีกรรม : ลักษณะการบวชเณรของชาวแม่สอดจะมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ
                    ๑. แบบข่านหลิบ (บวชเรียบง่าย) คือผู้ที่ตกลงใจบวช พ่อแม่ผู้อุปถัมภ์ก็จะนำผู้ที่จะบวช ไปโกนหัวนุ่งผ้าขาวพร้อมด้วยสำรับกับข้าวแบบข้าวหม้อแกงหม้อ ไปวัดให้กับพระภิกษุสงฆ์ ทำพิธีบวชเณรให้ก็เป็นอันเสร็จ
                    ๒. การบวชเณรโดยมีการแหล่ส่างลอง(แห่ลูกแก้ว)ซึ่งจะมีการแต่งตัวให้กับลูกแก้วอย่างสวยงาม มีการตกแต่งปะรำพิธี โดยแต่งตัวให้เด็กในลักษณะของส่างลองอย่างสวยงามเมื่อพร้อมกันหมดแล้ว ส่างลองทั้งหมดก็จะไปรับศีลจากพระ  จากนั้นก็จะนำส่างลองขี่คอ(ถ้าเด็กตัวเล็ก) ขี่ม้า ขี่ช้าง นั่งรถ ที่ตกแต่งอย่างสวยงามแห่แหนไปรอบตัวเมืองแม่สอด ขบวนแห่จะมีการละเล่น   มีดนตรีของพม่า ประกอบการแห่อย่างครึกครื้น  มีการเอาส่างลองเดินพร้อมกับโปรยข้าวตอกดอกไม้อย่างสนุกสนาน ขบวนส่างลองจะถูกนำไปยังบ้านของพ่อแม่หรือผู้ที่บวชเพื่อให้ดูตัว (ส่างลองจะไม่กราบไหว้ผู้บวช ให้นอกจากพ่อแม่เท่านั้น เพราะถือว่าส่างลองคือเจ้าชายผู้มีบุญอันยิ่งใหญ่มีศักดิ์สูงมาก) แล้วจะแห่ ส่างลองไปยังศาลเจ้าเมืองซึ่งตั้งอยู่ที่ตลาดเหนือของอำเภอแม่สอดแล้วจึงแห่กลับมาที่วัด ถ้าต้องการแห่หลายรอบก็ใช้เวลา ๒ วัน ถ้าแห่รอบเดียวก็ใช้เวลา ๑ วัน  เมื่อมาถึงวัดก็จะนำส่างลอง ไปโกนผมอาบน้ำแต่งตัวด้วยผ้าขาว แล้วจัดสำรับกับข้าวด้วยอาหาร ๑๒ อย่าง ขาดเกินไม่ได้ เสร็จแล้วจึงมีการทำขวัญแล้วทำการบวชเณร การบวชมักนิยมบวชกันตอนเย็น หรือไม่ก็ตอนเช้า เมื่อบวชเณรแล้วก็จะมีการฉลองโดยการถวายภัตตาหารแก่พระใหม่และพระภิกษุของวัดทั้งหมด ตลอดจนมีการเลี้ยงผู้มาร่วมงานอย่างเต็มที่รับฟังธรรมะ จึงเป็นอันเสร็จพิธี
สาระ : แหล่ เป็นภาษาไทยใหญ่ว่าหมายถึง แห่ ส่างลอง หมายถึง ลูกแก้ว ชาวไทยใหญ่และชาวไทย ผู้นับถือพุทธศาสนาในเขตอำเภอแม่สอด มักจะบวชเณรลูกหรือหลานของตนเองในช่วงปิดภาคเรียน ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกๆ ปี เนื่องจากว่างจากการทำงานและลูกหลานไม่ได้ไปโรงเรียน ทั้งต้องการให้ลูกหลานมีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าในช่วงปิดเทอม    การจัดงานบวชลูกแก้ว(แหล่ส่างลอง)นั้น ถือว่าผู้ที่บวชลูกชายตนเองจะได้บุญหรืออานิสงส์มากถึง ๗ กัลป์ ถ้าบวชลูกชายคนอื่นจะได้บุญ ๔ กัลป์ และถ้าได้บวชลูกชายตนเองเป็นพระภิกษุ จะได้บุญ ๑๖ กัลป์ ถ้าบวชลูกชายคนอื่นเป็นภิกษุจะได้บุญ ๘ กัลป์ จึงมักจะมีผู้ที่มีฐานะดีหลายคนนิยมหาเด็กผู้ชายมาบวช โดยจะไปทาบทามจากผู้ปกครองที่มีฐานะยากจนและถือเป็นการสร้างบุญกุศลร่วมกัน


ประเพณีการแข่งเรือ


แหล่งที่มารูปภาพ:  student.nu.ac.th


ประเพณี :  การแข่งเรือ
จังหวัด :   นครสวรรค์
ช่วงเวลา : หลังออกพรรษา ภายในเดือนตุลาคม หรือพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านจะจัดให้มีงานเทศกาลไหว้พระ และแข่งขันเรือยาวกัน
ความสำคัญ : การแข่งเรือในจังหวัดนครสวรรค์มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะที่วัดเกาะหงษ์ ตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จะมีเรือที่มีชื่อเสียงจากต่างจังหวัดมาร่วมแข่งขันมากมาย ปัจจุบันจังหวัดเป็นผู้จัดการแข่งขันกันบริเวณสะพานเดชาติวงศ์
พิธีกรรม : การแข่งขันเรือยาวจะจัดให้มีในงานเทศกาลปิดทองไหว้พระ ประจำปีของวัด และจะแข่งขันเรือยาวกันในวันพระและกำหนดการแข่งขันเรือยาวของแต่ละวัดจะไม่ซ้ำกัน ประเภทของเรือที่แข่งขันจะเป็นเรือขนาดกลางฝีพาย ๒๐ - ๕๐ คน ความยาวประมาณ ๑๕ วา ที่หัวเรือจะผูกผ้าแพรสีต่าง ๆ มีพวงมาลัยคล้อง มีบายศรี และธงประจำเรือ ก่อนจะนำเรือลงแข่งขันจะมีพิธีไหว้แม่ย่านางเรือก่อน เพื่อเป็นศิริมงคลและขอพร ให้ได้รับชัยชนะ การแข่งขันจะมีผู้ใหญ่ในจังหวัดเป็นกรรมการตัดสิน โดยก่อนแข่งขัน จะจับสลากเลือกทุ่น และพายตามกระแสน้ำไปตามทุ่น เรือลำไหนถึงทุ่นก่อน เรือลำนั้นเป็นผู้ชนะ จากนั้นมีการมอบถ้วย และเงินรางวัลเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
สาระ : สร้างความสนุกสนาน ฝึกความเป็นระเบียบ สร้างความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวกันระหว่างชุมชนในท้องถิ่นเดียวกัน และสมานสามัคคีกับคนต่างถิ่น 


วิดีโอจาก: www.youtube.com

เรียบเรียงโดย : thailandtradition12.blogspot.com
อ้างอิงข้อมูลจาก : personal.swu.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น